กมธ.งบฯ ลุยพิจารณางบ ก.คลัง ชงนำเงินนอกงบประมาณเยียวยาประชาชน

Highlight, การเมือง, สังคม
8 มิถุนายน 2021

กมธ.งบฯ ลุยพิจารณางบ ก.คลัง ชงนำเงินนอกงบประมาณเยียวยาประชาชน ด้าน “ฝ่ายค้าน” ตามจี้เงินยึดทรัพย์ 2 อดีตนายกฯ อยู่ส่วนไหนในงบฯ เบื้องต้นไร้คำตอบ

 

ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 กล่าวถึงผลการประชุมของ กมธ.โดยระบุว่าในวันนี้ (8 มิ.ย.) เป็นการประชุมต่อเนื่องจากเมื่อวาน (7 มิ.ย.) ที่ได้มีการพิจารณางบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง งบประมาณทั้งสิ้น 1,191,434,800 บาท และกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม งบประมาณทั้งสิ้น 30,000,000,000 บาท

ทั้งนี้ในการพิจารณางบประมาณเมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.) ของสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการหารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ว่าจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างไร โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ซึ่งมีกรรมาธิการบางท่าน ให้ข้อเสนอแนะว่า หากเป็นไปได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าที่จะใช้ “เงินนอกงบประมาณ” มาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพราะในแต่ละปี หน่วยงานต่าง ๆ มีเงินนอกงบประมาณรวมกันประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท ซึ่งหากนำงบประมาณในส่วนนี้มาใช้จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังได้สอบถามหน่วยงานเกี่ยวกับข่าวการสวมสิทธิประชาชนเพื่อใช้ประโยชน์ในบัตรสวัสดิการ ของกองทุนประชารัฐสวัสดิการ ซึ่งมีกรณีที่ประชาชนไม่สามารถเข้าใช้สิทธิบัตรสวัสดิการได้เพราะมีผู้สวมใช้สิทธิแทนไปแล้ว หรือกรณีที่มีการซ้ำซ้อนในการออกบัตรสวัสดิการ หรือกรณีที่ประชาชนบางคนไม่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ขีดความยากจนที่ควรจะได้สิทธิในบัตรสวัสดิการแต่กลับได้รับสิทธิ เช่น ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท ต่อปี ว่าหน่วยงานมีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างไร

โดยหน่วยงานได้ชี้แจงว่า ในเรื่องของการสวมสิทธิในบัตรสวัสดิการนั้น ได้สอบถ
กรมบัญชีกลางซึ่งได้มีการประสานไปยังสำนักงานประจำจังหวัดเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบซึ่งพบว่าส่วนหนึ่งมีการให้ผู้ใกล้ชิดนำบัตรไปใช้แทน อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลางได้มีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ต่อประชาชนแล้ว  นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังได้มีการหารือกันในเรื่องของ “หนี้นอกระบบ” โดยกรรมาธิการ บางท่านให้ข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานควรหาแนวทางและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ชัดเจนเพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาช้านาน และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้
ประชาชนต้องประสบปัญหาทางการเงินจนต้องกู้เงินนอกระบบ ทำให้ธุรกิจเงินนอกระบบ เติบโตขึ้นกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นการบั่นทอนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ  ทั้งนี้ หน่วยงานอาจแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนสามารถกู้เงินในระบบได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันและเสียดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้เงินนอกระบบ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน
ของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ช่วงเช้า (8 มิย.) คณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณางบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง และกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ต่อจากเมื่อวาน ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว คณะกรรมาธิการฯ จะเริ่มพิจารณางบประมาณ
หน่วยงานในสังกัด กระทรวงการคลัง อีก 9 หน่วยงาน 7 รายการงบกลาง และ 1 แผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ ดังนี้ 1.กรมธนารักษ์

2.กรมบัญชีกลาง

3.กรมศุลกากร

4.กรมสรรพสามิต

5.กรมสรรพากร

6.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

7.สำนักงานบริหารหนี้สินสาธารณะ

8.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

9.สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อบ้าน (องค์การมหาชน)

ด้านโฆษกคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (9 มิ.ย.) และวันที่ 10 มิถุนายน กรรมาธิการฯ งดการประชุม เพื่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท พร้อมยืนยันว่า การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในกรรมาธิการฯ จะติดตามการพิจารณาอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมา ฝ่ายค้านมีข้อสงสัยหลายประการ อาทิ เงินจากการยึดทรัพย์ อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้นำไปไว้ในส่วนใดของงบประมาณประเทศ และชื่อกองทุนต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หากเปลี่ยนรัฐบาลในอนาคต สามารถเปลี่ยนชื่อได้หรือไม่ เช่น กองทุนเพื่อไทย เพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสังคม เป็นต้น

 

บทความที่เกี่ยวข้อง