รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำจุดยืนเดิม รธน.ควรได้รับการแก้ไข ซัด พรรคแกนนำรัฐบาล ไม่มีความจริงใจ เน้น “ขายผ้าเอาหน้ารอด” จี้ พวกไม่ออกเสียงลงมติต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้
นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลการลงมติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ในการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ตนยืนยันว่า ได้ใช้สิทธิลงคะแนนเพื่อเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการย้ำให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังยืนยันจุดเดิมที่มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีข้อบกพร่องหลายประการที่สมควรแก้ไข เช่น สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ยังมีข้อจำกัด การดำเนินการในการปราบปรามการทุจริตที่ไม่สมเหตุสมผล กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ส. ตามวิธีการในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็พบว่า ได้บุคคลที่ขาดวุฒิภาวะ แต่กลับมีความใกล้ชิดผู้ที่มีอำนาจในพรรค สามารถดำรงตำแหน่ง ส.ส.ได้ ทำให้ประชาชนเกิดความเอือมระอาถึงบุคคลประเภทนี้ว่า ทำงานไม่สมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน รวมทั้งบางพรรค มีส.ส.คนเดียวเกือบ 20 พรรค เนื่องจากอานิสงส์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของคะแนนเสียงเอาไว้ จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่มีพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า 10 พรรค และยังมีปัญหาเรื่อง ‘ลิงกินกล้วย’ ให้ประชาชนกระแหนะกระแหนอยู่เสมอ เป็นต้น
ทั้งนี้ นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ประชาชนสงสัยในท่าทีของพรรคแกนนำรัฐบาลว่า ไม่มีความจริงใจที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่แรก ทำเหมือนกับสำนวนที่ว่า ‘ขายผ้าเอาหน้ารอด’ เช่น บรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อคราวการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา พอแต่ละพรรคที่ร่วมรัฐบาลเริ่มมีการทวงถามประกอบกับมีมวลชนมากดดันเรื่องนี้มากๆ เข้า จึงไม่สามารถฝืนกระแสได้ จึงต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งเรื่องดูเหมือนจะจบด้วยดี เพราะมีการพิจารณาไปถึงขั้นตอนที่จะลงมติในวาระ 3 แล้ว แต่ปรากฏว่า มี ส.ส. และ ส.ว. บางคน ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบ และทำให้มีคำวินิจฉัยที่สร้างความอิหลักอิเหลื่อให้กับสมาชิกว่า จะทำอย่างไรถึงจะถูกต้องตามกฎหมายและไม่เป็นปัญหาให้กับหลายๆฝ่ายในอนาคต จึงปรากฏว่า มี ส.ส. บางพรรคหลายคนเลือกที่จะนั่งอยู่เฉยๆ ไม่กล้าออกเสียงเพื่อตัดสินใจในกรณีนี้ ดังนั้น ตนเคารพคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในเมื่อผลการลงมติออกมาเป็นแบบนี้ ก็ถือว่ากระบวนการทั้งหมด จำเป็นจะต้องมีการกลับไปถามประชาชนตั้งแต่แรกโดยทำประชามติว่า สมควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา พอจะประมวลได้ว่า พรรคแกนนำรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามคำแถลงนโยบายของรัฐต่อสภา และยังยอมที่จะให้เกิดคำครหาว่า ‘รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา’ ติดตัวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยที่ไม่ยอมให้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น
“ผมลงมติให้ผ่านในวาระ 3 และคิดต่อไปว่า จะเอาร่างที่ผ่านการลงมติในวาระ 3 นี้ ไปให้ประชาชนทำประชามติก่อน เพื่อยืนยันหลักการที่ว่า ‘ประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ’ ซึ่งผลประชามติออกมาอย่างไร ตนก็พร้อมน้อมรับอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกัน ความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ส่วนรวมนั้น ถือเป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมือง จะต้องทำให้ประชาชนเห็น ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมร่วมฯ เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมานั้น คนที่จะต้องตอบคำถามกับประชาชนก็คือคนที่แสดงท่าทีที่นอกเหนือจากการลงมติ เช่น การอยู่เฉยๆ ในห้องเมื่อถึงคราวที่ถูกเรียกชื่อ” นายชัยชนะ กล่าว