ฝ่ายกฎหมาย​รัฐบาลนายวิษณุ ระบุ สภา โหวตร่างรธน.วาระ 3 ได้

Highlight, การเมือง
12 มีนาคม 2021

ฝ่ายกฎหมาย​รัฐบาลนายวิษณุ ระบุ สภา โหวตร่างรธน.วาระ 3 ได้ หลังศาลมีคำวินิจฉัย แต่ผลเป็นอย่างไรอยู่ที่สภา ส่วนตัวมอง ถ้าวาระ 3 โหวตตกปัญหาน้อยกว่า​

 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าว ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รัฐสภามีอำนาจยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องทำประชามติก่อนว่าจะสามารถโหวตลงมติในวาระ 3 ได้หรือไม่ ว่า เป็นเรื่องของรัฐสภาจะพิจารณา ซึ่งหากเดินหน้าในวาระ 3 ก็สามารถทำได้ แต่เมื่อมีคำวินิจฉัย และท่าทีของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ทั้ง ส.ว. และ ส.ส.บางส่วน จึงมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาตามมา ทั้งกรณีที่ไม่มีสมาชิกเข้าร่วมประชุม / สมาชิกเข้าประชุม แต่งดออกเสียง /และลงมติไม่เห็นชอบ เพื่อเริ่มต้นกันใหม่ ส่วนจะเริ่มทำกันทั้งฉบับ หรือพิจารณาเป็นรายมาตรา ก็อยู่ที่รัฐสภา และหากสภาลงมติวาระ 3 จบไป หรือคะแนนเสียงไม่ถึง ก็ดูเหมือนจะจบลงด้วยดี อาจไม่ถูกใจบางคน แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะหากลงมติวาระ 3 แล้วเกิดผ่านขึ้นมา จะทำให้เดินต่อไปยาก และผมรับรองจะมีคนเลี้ยวไปศาลรธน.อีก

นายวิษณุยังมองว่า ดำเนินการวาระ 3 ให้ได้ข้อยุติไป จะมีผลดีมากกว่าปล่อยให้ค้างคาไว้ ส่วนเมื่อถามว่าการทำประชามติครั้งแรกควรทำในช่วงไหนนั้น นายวิษณุ ระบุว่า ทำช่วงไหนก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องรอให้ พ.ร.บ.ประชามติมีผลใช้บังคับเสียก่อน ซึ่งขณะนี้ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนวาระ 2 แล้ว ทุกอย่างอยู่ที่รัฐสภาจัดทำรายละเอียด แต่ทั้งนี้เมื่อได้รับการโปรดเกล้าลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้แล้ว กฎหมายประชามติจะมีผลใช้ได้ทันทีไม่ต้องรอระยะเวลา 90 วัน

นายวิษณุยังเผยว่าขั้นตอนการทำประชามติ รัฐบาลจะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนคำถามเป็นเรื่องของฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันคิด แต่ที่สุดแล้วก็เป็นรัฐบาลที่จะเดินหน้ากระบวนการ เมื่อถามว่าหากวาระ 3 ถูกโหวตคว่ำจริง แนวทางหลังจากนั้นน่าจะเป็นการทำประชามติ หรือแก้รายมาตรามากกว่า นายวิษณุ ระบุว่า กระแสในสภาก็อยากให้ทำเป็นรายมาตราอยู่แล้ว เพราะใช้เวลาไม่มาก ประมาณ 1 เดือนครึ่งก็สามารถแล้วเสร็จได้ แต่ต้องมีความเห็นให้ตรงกันก่อนว่าจะแก้ไขในมาตราใดบ้าง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเพื่อให้ตกผลึกร่วมกัน

ส่วนกรณีที่บางฝ่ายกังวลเรื่องของกรอบเวลา ที่จะมีขั้นตอนการทำประชามติ และร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ อาจเลยวาระของสภาชุดนี้ นายวิษณุ ย้ำว่า กฎหมายกำหนดว่าให้ทำเสร็จภายในระยะเสลาเท่าไหร่ นั่นหมายถึงว่าสามารถทำให้เสร็จก่อนได้ เช่น หากกำหนดว่าต้องทำให้เสร็จภายใน 280 วัน ก็สามารถทำให้เสร็จก่อนภายใน 30 วันได้ ดังนั้นจะทำให้เห็นว่ากรอบเวลา หรือไทม์ไลน์นั้น สามารถยืดหยุ่นได้ เพราะอยู่ที่ว่าจะแก้อะไร เห็นพ้องกันหรือไม่ หากทุกอย่างตรงกันก็ดำเนินการได้เร็ว และที่สำคัญหากมีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาแล้ว แต่สภาหมดวาระก่อน ส.ส.ร.ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้

บทความที่เกี่ยวข้อง