กมธ.ดีอีเอส พร้อมนำร่องประชุมออนไลน์ทันทีหากระเบียบประกาศใช้ “กัลยา”เชื่อเป็นผลดี-สะดวกต่อการทำงาน สอดรับมาตรการป้องกันโควิด-19 “เศรษฐพงค์”ชี้เทคโนโลยีปัจจุบันพัฒนาไปไกลมีหลายโปรแกรมให้เลือกใช้งาน
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการการสื่อสาร การโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของคณะกรรมาธิการ ว่า หลังจากที่ นายชวน หลักภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามเห็นชอบในระเบียบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สอดรับกับข้อบังคับการประชุมสภาฯ ฉบับที่2 เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งจะทำให้กมธ.และอนุกมธ.ที่ตั้งในสภาฯทั้งหมด สามารถดำเนินการประชุมออนไลน์ได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการทำงานของ กมธ. ทำให้สามารถประชุมผ่านระบบออนไลน์กับกมธ.และผู้ที่จะมาชี้แจงได้ ซึ่งในบางครั้ง กมธ.หรือผู้ชี้แจงอาจจะไม่สะดวกในการเข้าประชุมที่ห้องกมธ. เนื่องจากติดภาระกิจที่ต่างจังหวัด ทำให้ลดเวลาและค่าเดินได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการสอดรับกับมาตรการควบคุมและป้องกันโควิด-19ได้อีกด้วย เพราะที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิดทำให้หลายกมธ.ไม่สามารถประชุมได้ ทำให้งานหลายอย่างติดขัด และเราไม่รู้เลยว่าวิกฤตโควิดจะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน ซึ่งการมีระเบียบการประชุมออนไลน์ได้จะเป็นทางออกที่ดี เผื่อในวันข้างหน้าจะมีสถานการณ์ใหม่ที่ทำให้การประชุมเกิดอุปสรรคอีกได้
“ทาง กมธ.ดีอีเอส ซึ่งเป็นกมธ.ที่เกี่ยวกับระบบดิจิทัล เรามีความตั้งใจที่จะให้มีการประชุมผ่านระบบออนไลน์อยู่แล้ว ซึ่งเรามีการเตรียมพร้อมไว้บ้างแล้ว โดยมีการหารือกับกมธ.และเจ้าหน้าที่สภาถึงขั้นตอน ระเบียบต่างๆและอุปกรณ์ โดยหากมีประกาศระเบียบออกมา เราพร้อมที่จะเป็นคณะนำร่องในการประชุมออนไลน์ได้ทันที แต่ทั้งนี้ในช่วงแรกของการประชุมอาจจะมีปัญหาติดขัดบ้างคงต้องค่อยๆแก้กันไป”น.ส.กัลยา กล่าว
ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งในผู้เสนอขอแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาให้ประชุมผ่านออนไลน์ได้ ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี สอดคล้องกับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยสาระที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น กำหนดให้ กมธ.สามารถจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีกมธ.ไม่สามารถจัดประชุมในสถานที่เดียวกันได้ แต่ต้องกำหนดให้มีมาตรฐานรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย โดยจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายรายพัฒนาแอปพลิเคชันและโปรแกรมสำหรับวีดีโอ คอนเฟอร์เร็นซ์เพื่อสร้างความสะดวกสบายและรองรับการเรียนและการทำงานผ่านทางออนไลน์ซึ่งนับได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในช่วงวิกฤตแบบนี้