กรม อ. แนะเช็ดทำความสะอาดกระป๋องก่อนเปิด เพิ่มความมั่นใจประชาชนกินปลากระป๋องปลอดภัย

Highlight, สังคม
7 มกราคม 2021

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนบางกลุ่มไม่กล้ากินปลากระป๋องช่วงนี้ หวั่นเกิดการปนเปื้อนจากโรงงานผลิตในจังหวัดสมุทรสาคร แนะเพิ่มความมั่นใจก่อนเปิดกินให้ทำความสะอาดกระป๋องก่อน เพื่อลดเสี่ยงการสัมผัสปนเปื้อนบริเวณพื้นผิวของกระป๋อง พร้อมย้ำให้เลือกซื้อปลากระป๋องที่สภาพดี ไม่บุบ ไม่เป็นสนิม และก่อนกินทุกครั้งต้องผ่านความร้อนเพื่อความปลอดภัย

​ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวการคัดกรองโควิด-19 ของโรงงานปลากระป๋อง ในจังหวัดสมุทรสาคร พบมีผู้ติดเชื้อในโรงงานจำนวนหนึ่ง ส่งผลให้ประชาชนมีความวิตกกังวลต่อการบริโภคปลากระป๋อง ซึ่งประเด็นนี้หากโรงงานมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP และ HACCP ในการควบคุมกระบวนการผลิตให้เกิดความปลอดภัย มีการป้องกันการปนเปื้อนรวมถึงไวรัสและการติดเชื้อต่าง ๆ ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ แต่เนื่องจากไม่ทราบว่าผู้ติดเชื้ออยู่ในขั้นตอนไหนของสายการผลิต แม้ว่ากระบวนการทำปลากระป๋องนั้น เนื้อปลาที่อยู่ในกระป๋องหลังบรรจุเสร็จที่ถูกความร้อนทั้งขั้นตอนทำปลาให้สุกและขั้นตอนใส่ซอสแล้วฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำเพื่อให้เกิดสภาพสุญญากาศภายในกระป๋อง แล้วนำมาปิดผนึก และใช้วิธีการนึ่งกระป๋องเพื่อฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิประมาณ 118 – 122 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 60 – 70 นาที โดยใช้ความร้อนสูงเพื่อทำลายจุลินทรีย์กับแบคทีเรีย ซึ่งมั่นใจได้ว่าเชื้อไวรัสจะตายหมด แต่ในขั้นตอนการนำกระป๋องมาบรรจุในหีบห่อ ตลอดจนนำไปขนส่ง ก็อาจจะมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่เกิดจากการสัมผัสของคนงานได้ ดังนั้นหากพบคนงาน ติดเชื้อที่อยู่ในระหว่างกระบวนการผลิตจุดใดจุดหนึ่ง และบริษัทได้ดำเนินการฆ่าเชื้อในขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ก็จะมีความปลอดภัย

“ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยการเลือกซื้อปลากระป๋องในช่วงนี้ ประชาชนควรเลือกซื้อกระป๋องที่อยู่ ในสภาพดี ไม่บุบ โดยเฉพาะตะเข็บหรือรอยต่อของกระป๋องต้องเรียบ ฝาหรือก้นกระป๋องแบนเรียบ ส่วนขอบกระป๋องจะต้องไม่มีรอยรั่วซึม ไม่เป็นสนิม ไม่โป่งนูน เนื่องจากมีแรงดันของก๊าซที่เกิดจากการเน่าเสียของอาหารภายในกระป๋อง และให้ดูฉลากสินค้าที่ผ่านการตรวจรับรองและมีเลขสารบบอาหารหรือตัวเลขหลังเครื่องหมาย อย. พร้อมทั้งสังเกตวัน เดือน ปีที่ผลิต และวันหมดอายุ ที่สำคัญก่อนบริโภคทุกครั้งควรทำความสะอาดกระป๋องและ หีบห่อเมื่อซื้อมา แล้วจัดเก็บพร้อมกับล้างมือทันที และเมื่อจะบริโภคควรนำปลามาปรุงผ่านความร้อนอีกครั้ง ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 7 มกราคม 2564

บทความที่เกี่ยวข้อง