นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวทางการผลักดันบทบาทสตรีของรัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ร่วมของประชาคมอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียนกับผู้นำสตรีอาเซียนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลเน้นย้ำการเสริมสร้างบทบาทสตรีที่ยั่งยืน โดยเสนอให้อาเซียนให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทด้านสาธารณสุข
สำหรับประเทศไทย บทบาทสตรีด้านการสาธารณสุขนั้นมีความโดดเด่นในระดับโลก นั่นคือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านบ้าน (อสม.) กว่าล้านคนที่ ในภาพรวมเกิน80% เป็นสตรี โดยองค์กรสหประชาชาติยอมรับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งรัฐบาลจะเดินหน้าในการขยายเครือข่ายและเพิ่มบทบาทในการเชื่อมโยงชุมชนในด้านอื่นในฐานะเป็นผู้ใกล้ชิดและเป็นที่ยอมรับของประชาชนด้วยกันอยู่แล้ว เช่น ช่วยนำข้อมูลเกี่ยวกับระบบสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กและครอบครัว ผู้สูงอายุ ผู้พิการ สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย และด้านการรักษาพยาบาลและสุขภาพ หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจก็จะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางด้อยโอกาส มากไปกว่านั้น รัฐบาลจะดูแลในเรื่องการให้สวัสดิการเพื่อตอบแทนอุดมการณ์ของการเป็นจิตอาสา ที่ตอนนี้เป็นต้นแบบที่หลายประเทศให้ความสนใจ
ควบคู่กันไปกับงานด้านสาธารณสุข นายกรัฐมนตรี ยังได้เร่งรัดให้พลังดันนโยบายการส่งเสริมความรู้เรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มสตรี เพื่อจะได้นำสินค้าชุมชนเข้าถึงผู้ซื้อโดยตรง เพิ่มโอกาสในการมีรายได้ที่มากขึ้น ทั้งนี้ มีการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน ผ่าน “โครงการ ไทยแลนด์อีคอมเมิร์ซ เพื่อความยั่งยืน” ประกอบด้วย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางานสำนักงาน คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ เป็นการให้ความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การทำอีคอมเมิร์ซเพิ่มช่องทางการขายของออนไลน์ตลอดจนการรู้เท่าทันและใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ อีกทั้ง ยังมีโครงการ ในลักษณะฟื้นฟูยกระดับอาชีพหลังวิกฤตโควิด19 ที่จะนำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาผสานกับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้กลุ่มแม่บ้านสามารถพัฒนาสินค้าใหม่ๆ โดยกรมกิจการสตรีฯจะทำร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาค
นางสาวรัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความภาคภูมิใจในบทบาทสตรีในการมีส่วนร่วมดูแลสังคมเป็นอย่างมาก อีกทั้งได้หยิบยกขึ้นเป็นตัวอย่างในเวทีอาเซียนด้วย โดยเฉพาะผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ในช่วงวิกฤตโควิด19 มากไปกว่านั้นกลุ่มสตรียังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น ไม่ว่าจะเรื่องกิจกรรมทางการเกษตร และการผลิตสินค้าชุมชน ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมศักยภาพสตรีให้มากขึ้น ผ่านการให้ความรู้เกี่ยวกับการตลาด การทำอีคอมเมิร์ซ การพัฒนาสินค้าให้น่าสนใจ ซึ่งทั้งหมดนี้มีอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี ที่ครอบคลุมในเรื่องการส่งเสริมสถานภาพสตรีและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวด้วย