“เศรษฐพงค์” เตือน ระวังข่าวลวงเทคโนโลยี 5G ปั่นกระแสให้น่ากลัวฉวยโอกาสขายของ แนะหาข้อมูลให้รอบด้านวิเคราะห์ตามหลักความเป็นจริง
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรภูมิใจไทย และรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประชุม GLORE2020 Global Coordination of Research and Health Policy on RF Electromagnetic Fields) ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ย. เป็นการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการวิจัยและความร่วมมือในเรื่องนโยบายสุขภาพบนสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดออนไลน์ใช้เวลาที่แคนาดาเป็นหลัก แต่ตัวแทนของ Telstar ผู้ให้บริการ 5G จากออสเตรเลียได้พูดในประเด็นที่น่าสนใจเรื่องประสบการณ์ 5G ได้รับการต่อต้านจากประชาชนในความเชื่ออย่างไม่มีเหตุผลเช่น 5G ยังไม่ได้มีการทดสอบว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ เป็นแหล่งปล่อยไวรัส Covid-19 เมืองไหนมี 5G ก็จะมีผู้ติดเเชื้อเป็นจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกาติดตั้ง 5G เป็นประเทศแรก ๆ ของโลก ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมาก หรือหลายเมืองในยุโรปก็มีการระบาดตามเมืองที่มีการติดตั้ง 5Gส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้นไม้ไม่เจริญเติบโต หรือเป็นเหตุให้นกจำนวนมากตายลง
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากมีการปั่นกระแสเรื่องความน่าหวาดกลัวของ 5G ให้กับประชาชน มีคนที่ฉวยโอกาสในการสร้างเรื่องอุปกรณ์ Anti-5G Bio Shield ที่หน้าตาคล้าย USB Drive โดยมีการโหมสร้างความน่าเชื่อถือว่า อุปกรณ์ตัวนี้มีเทคโนโลยี Quantum holographic catalyzer technology ที่จะสร้างม่านครอบตัวผู้ใช้ที่มองไม่เห็น มีความสามารถป้องกันอันตรายให้กับผู้ใช้ได้เป็นอย่างนี้ ซึ่งได้มีการสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นไปอีกเป็นการสร้างเอกสารที่คล้ายจะเป็นวิชาการจำนวน 25 หน้า ที่อธิบายสรรพคุณของอุปกรณ์ตัวนี้ มีการบอกระยะของการครอบคลุมป้องกันคลื่น 5Gโดยทาง BBC ได้มีการนำอุปกรณ์ตัวนี้มาผ่าดูผลปรากฏว่าอุปกรณ์ป้องกันคลื่น 5G นี้ไม่มีอะไรแตกต่างไปมากกว่า USB Stick ธรรมดาๆ เป็นการฉวยโอกาสสร้างกระแสความกลัวในเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล มีการเปิดเวปไซด์ 5GBioShield เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่อง5G อันตรายต่อสุขภาพอย่างผิดๆ และเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายโดยยังไม่ได้มีใครไปดำเนินการกับเวปไซด์อันนี้อยู่
“สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นข่าวลวง ซึ่งทุกวันนี้ยังมีออกมาทุกวัน และที่น่าแปลกใจคือมาจากประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งบางครั้งมาจากเวปไซต์ต่างๆที่ต้องการยอดคลิ๊ก การจะเชื่ออะไรต้องฟังข้อมูลอย่างรอบด้านและต้องระวังเรื่องการส่งต่อให้ความเข้าใจผิดๆ ส่วนประเด็นที่อาจก่ำกึ่งฟังดูอ่านจะมีความเป็นไปได้หรือเป็นประเด็นข้อกังวลสงสัยอาจใช้วิธีหาข้อมูลอื่นๆ ประกอบหรือแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ถ้าประเด็นข้อกังวลใดมีผลกระทบผู้คนเป็นวงกว้างย่อมจะมีข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศยืนยันความชัดเจนเเละถูกต้อง ซึ่งเราควรดูข้อมูลจากตรงนั้นเป็นหลัก” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว