“ฝ่ายค้าน” เห็นพ้อง ขานรับหลักการร่างแก้ไข รธน. ทั้ง 7 ฉบับ ย้ำ ต้องรับร่างไอลอว์ พร้อมเตรียม ยื่นร่างประชามติประกบฉบับรัฐบาล กังขาจำกัดเสรีภาพ ปชช.
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กล่าวถึง ผลการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันนี้ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นควรให้ร่างของภาคประชาชน (ไอลอว์) เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาด้วยในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านได้พิจารณาแล้วว่า จะสนับสนุนญัตติทั้ง 7 ญัตติ ซึ่งแต่ละพรรคต้องไปพูดคุยกับสมาชิกพรรคของตัวเองด้วย เหตุผลที่รับร่างของภาคประชาชน เพราะเป็นร่างที่มาจากประชาชน ซึ่ง ส.ส.ทุกคนก็เป็นตัวแทนของประชาชน และร่างมีหลักการและเหตุผลที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับร่างของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล อีกทั้งร่างของภาคประชาชนไม่มีส่วนใดผิดกฎหมาย และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขทั้งฉบับสามารถทำได้ตามอำนาจของรัฐสภา ดังนั้นรัฐสภาคงจะต้องให้การยอมรับเสียงของประชาชน
ด้านเลขาธิการพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน กล่าวว่า การลงมติในวันที่ 17-18 นี้ จะเป็นการลงมติเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ ปัจจัยสำคัญก็อยู่ที่ท่าทีของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งการตัดสินใจของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. เชื่อว่าก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งความจริงใจและเจตนารมของนายกรัฐมนตรีเป็นตัวชี้ขาดด้วยในวันที่ 17-18 นี้ และตนเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรผ่านทั้ง 7 ฉบับ ไม่ใช่แค่ฉบับใดฉบับหนึ่ง หากผ่านแค่ 2 ฉบับ อาจจะดูเป็นการลูบหน้าปะจมูก และไม่ให้เกียรติประชาชน
ด้านรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล กล่าวถึงร่างของไอลอว์ ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเห็นตรงกันว่าควรสนับสนุนร่างของประชาชนฉบับนี้ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ
1.การนำเสนอกฎหมายโดยประชาชน เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของ ประชาชน เป็นการใช้สิทธิตามอำนาจอธิปไตยที่เสนอกฎหมายผ่านรัฐสภา
2.ประชาชนมีความตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยมองเห็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ ซึ่งความเห็นของประชาชนก็สอดคล้องกับความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มองเห็นปัญหาเช่นเดียวกัน
3.หลักการร่างของประชาชนที่เหมือนกับหลักการของรัฐบาล และฝ่ายค้าน คือ เห็นว่าควรมีส.ส.ร. ขึ้นมาแก้รัฐธรรมนูญ และ
4.ร่างของประชาชนนี้ไม่ได้ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายใดเลย
ส่วนกรณีร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ยืนยันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นร่างประกบกับร่างของรัฐบาล
โดยในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ฝ้ายค้านจะยื่นร่าง พ.ร.บ.ประชามติของพรรคฝ่ายค้านนี้ต่อรัฐสภา โดยมีสาระสำคัญที่ต่างออกไปคือ
1.เรายกเรื่องของการรณรงค์ให้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ให้สิทธิประชาชน ภาคเอกชน และพรรคการเมือง ในการรณรงค์อย่างทั่วถึง และ
2.ควรอนุญาตให้มีการออกเสียงล่วงหน้า และนอกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสออกมาออกเสียงให้ได้มากที่สุด
เมื่อถามว่า มีบางฝ่ายมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นขัดกับมาตรา 49 และอาจเลยเถิดไปถึงการนิรโทษกรรม อดีตนายกฯ นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นประเด็นเก่าที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหยิบยกมาใช้นานแล้ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตรา 256 (8) ได้ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วเรื่องอำนาจของสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครไปยกเลือกกฎหมายทั้งปวง เพราะมิเช่นนั้นจะทำให้เกิดสุญญากาศ ดังนั้น ส่วนที่บอกว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมให้ใครนั้นเป็นการใส่สี ตีความ และเป็นความเท็จทั้งสิ้น