“พิชัย” เตือน “ประยุทธ์” เตรียมรับมือ 5 เรื่อง

Highlight, การเมือง, สังคม
12 พฤศจิกายน 2020

“พิชัย” เตือน “ประยุทธ์” เตรียมรับมือ 5 เรื่องจากนโยบายโจ ไบเดน เชื่อ ไทยจะถูกกดดันเรื่องประชาธิปไตยและการละเมิดสิทธิฯ ห่วง ต้องแบกรับความล้มเหลวกัน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า อยากให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร๋โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ได้เตรียมพร้อมรับมือกับนโยบายของสหรัฐที่จะเปลี่ยนแปลงภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ นายโจ ไบเดน ที่จะเข้ารับตำแหน่งในต้นปีหน้านี้ ตามที่นายโจ ไบเดน ได้หาเสียงไว้

ทั้งนี้เชื่อว่านโยบายการกีดกันการค้าของสหรัฐกับทั้งโลกคงน่าที่จะเบาลง แต่นโยบายสงครามการค้ากับประเทศจีนน่าจะคงมีอยู่ ทั้งนี้เพราะสหรัฐเองคงต้องการจะชะลอการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนไม่ให้พัฒนาแซงหน้าสหรัฐเร็วนัก

โดยอยากให้พลเอกประยุทธ์ได้ศึกษาและเตรียมรับมือกับ 5 เรื่อง ดังนี้

เรื่องแรกคือ เรื่อง CPTPP เพราะมีโอกาสสูงที่สหรัฐ ภายใต้การนำของนาย โจ ไบเดน จะหันกลับมาร่วมกับ CPTPP หรือ ในอดีตที่เรียกกันว่า TPP ที่สหรัฐเป็นตัวตั้งตัวตีแต่แรกในสมัยประธานาธิบดี บารัค โอบามา แต่มาหยุดชะงักลงในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดังนั้นเมื่อพรรคเดโมแครต ได้กลับมาเป็นรัฐบาลใหม่ ก็มีโอกาสสูงที่จะรื้อฟื้นเรื่องนี้ โดยไทยจะต้องพิจารณาให้ดีถึงผลดีและผลเสียของการจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้ศึกษาพบว่า การที่ประเทศไทยจะเข้าร่วม CPTPP ประเทศไทยอาจจะเสียเปรียบและมีปัญหาด้านเกษตรกรรมและสิทธิบัตรยา ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะต่อรองได้ขนาดไหน แต่ถ้าไทยไม่เข้าร่วมเลย เราอาจจะตกขบวนทั้งการค้าและการลงทุนที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ อีกทั้งจะเหมารวมไปถึง ห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของประเทศในหมู่สมาชิกในอนาคตด้วย ซึ่งไทยต้องคำนวณผลได้ผลเสียให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจ และ ชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบถึงผลดีผลเสียเป็นข้อๆ ยิ่งเศรษฐกิจไทยกำลังย่ำแย่ และต้องการโอกาสที่จะฟื้นฟู ยิ่งต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้ดี ทั้งนี้หากจะตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ก็ต้องคำนึงด้วยว่าจะช่วยเหลือ หรือ เยียวยากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรรายได้น้อยที่จะได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ในอดีตมีการคำนวณกันว่าหากประเทศไทยไม่เข้าร่วม CPTPP ในกรณีที่สหรัฐเข้าร่วม จะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยถึง 5% ของ จีดีพีเลย ซึ่งไม่แน่ใจว่าความเสียหายจะมากถึงขนาดนั้นจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็สูงมาก เพราะต้องคำนึงถึงระบบซัพพลายเชนระหว่างประเทศสมาชิกทั้งหมดด้วยตามที่กล่าวแล้ว

เรื่องที่สอง คือ การที่นายโจ ไบเดน ได้ประกาศว่าจะกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสอีกครั้ง ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ถอนตัวไป โดยที่สหรัฐคงจะให้ความสนใจกับปัญหาโลกร้อนมากขึ้น การใช้ พลังงานจากฟอสซิล โดยเฉพาะจากถ่านหินก็จะลดลง และประเทศต่างๆก็จะถูกตรวจสอบการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่บรรยากาศ ซึ่งไทยก็จะต้องระวังและเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ด้วย ทั้งนี้หุ้นบริษัทเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซียที่รัฐบาลโดย ครม. อนุมัติให้บริษัทลูก กฟผ. ซื้อมูลค่ากว่า 1.17 หมื่นล้านน่าจะยิ่งขาดทุนหนัก ซึ่งตนได้เคยเตือนไว้ก่อนแล้ว

เรื่องที่ 3 นายโจ ไบเดน ประกาศจะขึ้นการเก็บภาษีสำหรับคนรวย โดยขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% และ การขึ้นภาษีบุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุดจาก 37% เป็น 39.6% อีกทั้งจะมีการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำจาก 7.25 ดอลลาร์ เป็น 15 ดอลลาร์ ต่อชั่วโมง ซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจในสหรัฐ และอาจจะส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิต ซึ่งไทยอาจจะมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์หากไทยกลับมาเป็นที่ยอมรับของสหรัฐและประชาคมโลกอีกครั้ง

เรื่องที่ 4 นายโจ ไบเดน มีแผนการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาลถึง 2 ล้านล้านเหรียญ อีกทั้ง นโยบายกีดกันการค้าที่จะลดลง จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐอ่อนค่าลงได้ และจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก ซึ้งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดหมายกันว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจจะอ่อนค่าลงไปถึง 35% เลยในปีหน้า จากเศรษฐกิจของสหรัฐที่จะย่ำแย่ ดังนั้น รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง ทั้งนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยติดลบหนัก และ การส่งออกของไทยก็ติดลบอย่างมาก ถ้าค่าเงินบาทยังแข็งค่าจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดลงไปอีก

เรื่องที่ 5 ซึ่งเรื่องที่น่าส่งผลต่อไทยมากที่สุด คือ แนวทางของพรรคเดโมแครตที่จะเน้นเรื่องการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มงวด ซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์น่าจะมีปัญหาในเรื่องนี้อย่างมาก จากรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มี สว. แต่งตั้ง 250 คน และ การสลายการชุมนุมของประชาชนอย่างผิดหลักสากล แม้กระทั่งล่าสุดการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมในบริเวณสนามหลวง

ทั้งนี้ นายโจ ไบเดนเป็นนักการเมืองสหรัฐที่คร่ำหวอดอยู่ในแคปปิตอลฮิลล์มาเป็นเวลานานโดยเป็นวุฒิสมาชิกนานถึง 36 ปี และเป็นรองประธานาธิบดี อีก 8 ปี ดังนั้นจะมีความเกรงใจและรับฟังสื่อหลักของสหรัฐอย่างมาก โดยที่สื่อหลักอย่าง เดอะวอชิงตัน โพสต์ได้โจมตีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์อย่างหนักว่าไม่ใช่รัฐบาลจากระบอบประชาธิปไตย และ เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอย่าได้มีความสัมพันธ์แบบปกติกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และ เมื่อเร็วๆนี้ ยังได้ลงข่าวบทสัมภาษณ์ของตำรวจไทยที่รู้สึกผิดที่เข้าไปสลายการชุมนุมอย่างผิดหลักการสากล และฝืนจริยธรรมของตัวเอง พร้อมยืนยันว่า ตำรวจส่วนใหญ่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อนายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่ง รัฐบาลพลเอกประยุทธ์อาจจะเจอกับความกดดันมากขึ้น นอกจากการถูกตัดจีเอสพี ถึง 2 ครั้งในปีนี้แล้ว

นี่เป็นเพียงบางเรื่องเท่านั้นที่จะมีผลกระทบต่อไทย ซึ่งก็ต้องติดตามกันดูต่อไปว่าจะมีเรื่องไหนเพิ่มขึ้นอีก

ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะต้องเผชิญกับปัญหารอบด้านทั้งผู้ชุมนุมจำนวนมากที่ออกมาขับไล่ ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายกับการบริหารที่ล้มเหลว ปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า และอาจจะต้องมาเจอแรงกดดันจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้เลย คำถามคือประเทศไทยจะต้องแบกรับความล้มเหลวของพลเอกประยุทธ์ไว้เป็นภาระไปอีกนานเท่าไหร่

บทความที่เกี่ยวข้อง