“ชวน” ชี้รัฐบาลมีฝ่ายกฎหมายดูเรื่องกฎหมาย หลังมีข้อโต้แย้ง พ.ร.บ.ประชามติไม่ใช่กฎหมายปฏิรูป ยืนยันประชาชนตอบคัดค้านร่วมลงชื่อเสนอร่าง รธน.ไอลอว์กว่า 400 รายไม่ทำให้กฎหมายตกไป ไม่ตอบว่าควรจะคุยสมานฉันท์กับ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” แต่ได้คุยกับอดีตนายกฯในประเทศครบแล้ว
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติที่มีบางฝ่ายออกมาระบุว่าไม่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไม่สามารถใช้การประชุมร่วมรัฐสภาได้ ว่า ทางรัฐบาลมีฝ่ายกฎหมายที่เชียวชาญที่รู้ว่ากฎหมายฉบับใดที่เข้าสภาในเงื่อนไขใด แต่ที่มีข้อกังวลเรื่องว่าไม่ได้ทำประชาพิจารณ์นั้น ในรายงานพบว่าได้มีการระบุไว้ว่าได้จัดทำไปแล้ว และเรื่องนี้เมื่อรัฐบาลเสนอมาให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพราะการประชุมร่วมรัฐสภามีการกำหนดไว้ว่าสามารถทำได้ในกรณีใดบ้าง โดยเรื่องนี้จะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุมร่วม 3 ฝ่ายวันนี้ด้วย
ส่วนกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัยนั้น นายชวน กล่าวว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสามารถทำได้ 2 กรณี โดยบางเรื่องสมาชิกสามารถเข้าชื่อยื่นได้เลย แต่บางเรื่องต้องต้องมีการเข้าชื่อเสนอผ่านทางประธานสภาฯ
ส่วนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับแระชาชน(iLaw)ที่มีการตีตกรายชื่อผู้ร่วมเสนอไปนั้นจะกระทบต่อการเสนอกฎหมายหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ย.)จะเป็นวันสุดท้ายที่ประชาชนที่มีชื่อในการเสนอจะยื่นคัดค้านการลงชื่อ ซึ่งเมื่อครบกำหนดจะมาแจ้งให้ทราบอีกครั้งว่ามีผู้คัดค้านเท่าไหร่ แต่เบื้องต้นที่สอบถามไปเมื่อวานนี้ทราบว่ามีประมาณ 400 กว่าคนที่แจ้งว่าไม่ได้ร่วมลงชื่อในร่างกฎหมายดังกล่าว แต่เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีประชาชนเข้าชื่อแสนกว่าคน ก็ไม่ทำให้กฎหมายต้องเสียไป
นายชวน กล่าวย้ำถึงคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่า ไม่สามารถรอการติดต่อประสานงานให้ครบถ้วนได้ ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าได้มีการเสนอโครงสร้างมาเมื่อวานนี้(10 พ.ย.) จำนวน 2 รูปแบบ โดยแบบแรกจะให้ฝ่ายการเมือง 7 กลุ่ม แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะหาทั้ง 7 กลุ่มในเวลานี้ ซึ่งเดิมทีจะรอเพื่อเจรจา แต่คิดว่าจะยิ่งทำให้เสียเวลา จึงตกลงว่าได้กี่กลุ่มก็ขอให้ดำเนินการไปก่อน โดยกรณีนี้ฝ่ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนอีกกลุ่มตามที่ นพ.ประเวช เสนอก็ถือว่าเป็นประโยชน์ ซึ่งบุคคลที่เสนอชื่อมาก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการประนีประนอมและเป็นชื่อที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอมาเช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนรี้ยังมีเวลาที่จะได้มีการพูดคุยกับผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำมาก่อนแล้ว
“เช่นผมคุยกับคุณมานิต สุขสมจิต ว่าทำไมที่ทำไปแล้วถึงไม่เกิดผล ก็คิดว่าเราอาจจะหาคนที่มีความรอบรู้ทางทฤษฎี ขณะเดียวกันก็เอาคนที่มีความรู้ทางด้านปฏิบัติ เพราะที่เขาเคยทำมาถือว่าศึกษาละเอียดและก็มีประโยชน์ แต่ว่าในที่สุดไม่เกิดผลเท่าที่ควรจะเป็น” นายชวน กล่าว
ส่วนกรณีที่มีบางคนเสนอว่าควรให้พูดคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยนั้น นายชวน กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้มีการพูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนที่อยู่ในประเทศหมดแล้ว ยกเว้น พล.อ.สุจินดา คราประยูร และในช่วงเวลาในวันหยุดก็ได้มีการพูดคุยกับบุคคลที่ทำงานในด้านนี้มา ซึ่งคิดว่าเฉพาะหน้าเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องแก้ไป ก็ให้ฝ่ายการเมืองทำไป
“แต่ในระยะยาวที่จะป้องกัน คือความขัดแย้งความเห็นทางการเมืองต้องมีตลอดไป ไม่ได้แปลกอะไร แต่ประชาชนขัดแย้งกันเองเป็นสิ่งที่หากย้อนหลังไปดูมีบางช่วงบางตอน และมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ อันเกิดจากการกระทำ ส่วนใหญ่ก็ฝ่ายการเมืองเองเป็นผู้กระทำเกิดความขัดแย้งแตกแยก ชนิดว่าคนนึงเข้าจังหวัดนี้ไม่ได้ คนนึงเข้าจังหวัดนั้นไม่ได้ ซึ่งอันนี้เป็นอดีตที่ต้องศึกษาว่าเราจะป้องกันอย่างไร เพราะฉะนั้นเรื่องในอดีตบางเรื่องสามารถนำมาศึกษาและป้องกันไม่ให้เกิดต่อไปในอนาคตได้” นายชวน กล่าวทิ้งท้าย