กสม. มีข้อห่วงใยด่วนถึง ผบ.ตร.

Highlight, การเมือง, สังคม
3 พฤศจิกายน 2020

กสม. มีข้อห่วงใยด่วนถึง ผบ.ตร. ต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมตัวและดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุม

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาซึ่งได้เกิดกรณีต่าง ๆ เช่น การจับกุมบุคคลในยามวิกาล การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยเจ้าหน้าที่แต่งกายนอกเครื่องแบบ การใช้ยานพาหนะที่มิใช่ยานพาหนะของราชการในการจับกุม รวมถึงการจับกุมและการอายัดตัวผู้ต้องหาเพื่อการดำเนินคดีแบบต่อเนื่อง จนทำให้เกิดข้อเรียกร้องจากผู้ถูกจับกุมตามที่ปรากฏเป็นข่าวจากสื่อมวลชน นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความกังวลต่อการดำเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะการจับกุมดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและเยาวชน โดยที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ได้รับรองหลักการเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย (Principle of legality) ในการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลไว้ว่า ในการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลนั้น แม้จะเป็นการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม (Appropriate) ยุติธรรม (Justice) คาดการณ์ได้ (Predictable) และสอดคล้องกับกระบวนการอันควรตามกฎหมาย (Due process of law) ประกอบกับการดำเนินการใด ๆ ของรัฐจักต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

“เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมและดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมเป็นไปด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนสากลดังกล่าวข้างต้น เมื่อวานนี้ (2 พฤศจิกายน 2563) กสม. จึงได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด เรื่อง ข้อห่วงใยต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมตัวและดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมในสถานการณ์การชุมนุม แจ้งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานการณ์ชุมนุมที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล หรือกระทบให้น้อยที่สุดและเท่าที่จำเป็น และสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมและการดำเนินคดีให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว” นางประกายรัตน์ กล่าว

 

บทความที่เกี่ยวข้อง