“พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ย้ำ “บิ๊กตู่” คือปัญหาประเทศ

Highlight, การเมือง
2 พฤศจิกายน 2020

“พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ย้ำ “บิ๊กตู่” คือปัญหาประเทศ จี้ ลาออกเปิดทางแก้ไขปัญหา ไม่ปิดประตูร่วม คกก.สมานฉันท์ ลั่น ขอดูเนื้อหา-โครงสร้างก่อน

ตัวแทนคณะกรรมการประงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ร่วมแถลงภายหลังการประชุม ถึงท่าทีของพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อการเข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ และการหาทางออกให้กับประเทศ

โดยเลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง กล่าวว่า พวกเราห่วงถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่มีความขัดแย้ง และยังมองไม่เห็นช่องทางในการประนีประนอม หรือยุติลงได้ ฝ่ายค้านจึงได้ระดมความคิดว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองไปสู่ความสงบ โดยเรามองว่า สถานการณ์ปัจจุบันคนกลุ่มหนึ่งถูกใช้กฎหมายดำเนินการจับกุม ดำเนินคดี ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายเล็กเหนือกฎหมายใหญ่ ใช้กฎหมายเหนือความยุติธรรม

ด้านรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล กล่าวว่า สำหรับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นร่วมกันว่า ปัญหาสำคัญของประเทศในขณะนี้เกิดจากตัวนายกฯ เป็นหลัก ที่บริหารประเทศมา 5-6 ปี แต่ความขัดแย้งกลับเพิ่มขึ้น ไม่ได้มีความปรองดองเกิดขึ้นเลย ทั้งเศรษฐกิจยังล้มเหลว เราจึงเห็นว่า การตั้งกรรมการอะไรขึ้นมาคงเปล่าประโยชน์ เรามองว่า เราคงต้องถอดสลักสำคัญอันนี้ของประเทศออกเสียก่อน ซึ่งเรายืนยันสิ่งที่ได้มีการอภิปรายไปในสภาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกไปเสียก่อน  นอกจากนี้ เรามีประสบการณ์ว่า กรรมการแต่ละชุดที่เคยตั้งมาก่อนหน้านี้หลายครั้งหลายหน แต่กรรมการลักษณะนี้ไม่มีอำนาจในตัวเองในการดำเนินการใดๆ เช่น เห็นว่ากรรมการควรมีการนิรโทษกรรม แต่ไม่สามารถดำเนินการตามนั้นได้ เราจึงเห็นแค่ข้อแนะนำ แต่รัฐบาลไม่ได้เอาไปดำเนินการ และเราเห็นว่า การที่จะมีกรรมการชุดนี้ขึ้นมา สิ่งสำคัญที่สุดต้องตีโจทย์ให้แต่ปัญหาของประเทศที่เกิดขึ้นขณะนี้คืออะไร แล้วแก้ที่ปัญหาโจทย์นั้น เราอยากตรวจสอบดูก่อนว่า คุณตั้งกรรมการชุดนี้คุณมีโจทย์อย่างไร ถ้าอยากคลี่คลายปัญหาประเทศ เรามองว่า สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดอันดับแรก คือการหยุดคุกคามนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนก่อน เพราะหากยังมีการคุกคามอยู่ โอกาสที่จะคลี่คลายปัญหาโดยคณะกรรมการอะไรก็แล้วแต่คงจะไม่มีประโยชน์ และสำเร็จได้ยาก

ขณะที่รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี คือตัวปัญหาถ้าหากเรานำปัญหานี้ออกไปจะทำให้บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างง่ายดาย และปัญหาการเมืองจะคลี่คลายได้  ส่วนข้อเสนอแนะการตั้งคณะกรรมการฯ พวกเราไม่อยากร่วมกระบวนการถ่วงเวลาแต่ต้องการความชัดเจนของเป้าหมายว่าจะทำอะไร องค์ประกอบมีอย่างไร จะต้องทำตามข้อเรียกร้องของเรา โดยมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม เพื่อเสนอข้อเรียกร้องสู่สาธารณะ ,ร่วมหาทางออกอย่างสันติ รับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย และกรรมการชุดนี้จะต้องสรุปข้อเรียกร้องของทุกฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรม และส่วนตัวยืนยันว่า นายกฯ จะต้องลาออกจากตำแหน่งเพื่อแก้ไขปัญหา

ด้าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่า การทำประชามติจะขัดแย้งรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ให้ประชาชนสามารถตัดสินใจและใช้ความคิดได้ ส่วนอุปสรรคของบ้านเมือง คือ นายกรัฐมนตรี อย่าให้ทางออกคือการโยนบาปให้กับประชาชน เพราะท่านไม่เคยสร้างความสมานฉันท์ให้กับประเทศ การชุมนุมทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานที่ล้มเหลวของนายกรัฐมนตรี ทางออกที่ทุกคนเรียกร้อง คือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง ส่วนคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา คือโอกาสที่ทุกฝ่ายจะได้พูดคุย เพราะปัจจุบันความไม่เข้าใจกันในสังคมเกิดขึ้นทุกระดับในสังคม ไม่เว้นแม้กระทั่งครอบครัว ส่วนตัวยืนยันว่า นายกฯ ต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่เช่นนั้นประเทศจะหาทางออกไม่ได้ นอกจากนี้ เป็นการสร้างความขัดแย้งของผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย นายกฯ ต้องคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว

ด้านที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชชยชัย กล่าวว่า การจะเชิญฝ่ายค้านเข้าร่วมเพื่อ ต้องดูเป้าหมายจะแก้ปัญหาจะทำอะไรได้บ้าง นายกฯ ควรจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกคน จากการประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญที่ผ่านมา เห็นแล้วว่าล้มเหลว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศได้ หากจะชวนฝ่ายค้านเข้าไปร่วมจะต้องเห็นการแก้ปัญหาและการร่วมมือเพื่อที่จะให้ประเทศสู่ความสงบ นายกฯ ต้องตัดสินใจเพื่อให้ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการปกติ นายกฯ ต้องลาออก ทุกฝ่ายจะหันหน้าเข้าหากันและร่วมพูดคุยหาทางออก แต่ถ้าไม่ลาออกแต่โยนปัญหาให้ฝ่ายตรงข้าม ท่านคือคนที่ถ่วงดุลย์การแก้ไขปัญหาของประเทศ

เมื่อถามว่า การประกาศยุบสภาจะเป็นทางออกที่ดีกว่า และหากฝ่ายค้านจะกลับมาเป็นรัฐบาล จะมีโอกาสยุติปัญหาหรือไม่ นายชูศักดิ์ เผยว่า ตนจะไม่ตัดสินใจยุบสภา เพราะคือการหนีปัญหา อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังไม่ได้แก้ เลือกตั้งก็กลับมาในระบบเดิมและวุฒิสภาก็ยังทำงานและโหวตนายกฯ ได้เหมือนเดิม เรื่องนี้เป็นเรื่องเห็นแก่ตัว

บทความที่เกี่ยวข้อง