นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจราชการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 1ตค.ที่ผ่านมานั้น เป็นการติดตามแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3โครงการท่าเรือทางบก (Dry Port) การศึกษารูปแบบการเชื่อมโยงอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ด้วยโครงการปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกระนองและท่าเรือชุมพร โครงการพัฒนา Landbridge เชื่อมท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง และโครงการสะพานไทย
ทั้งนี้ ในปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังระยะที่1 มีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ขนาด 20ฟุต หรือ Twenty Foot Equivalent Unit (TEU) ได้ 4.3ล้านตู้ ระยะที่2 รองรับได้ 6.8 ล้านTEU และเมื่อพัฒนาระยะที่3 เสร็จสมบูรณ์แล้วจะรองรับได้เพื่มอีก 7.0ล้านTEU รวมทั้งสิ้นเป็น 18.1ล้านTEU
ในส่วนของท่าเรือบก (Dry Port) นั้นหมายถึง บริเวณพื้นที่ตอนในของประเทศที่มีการดำเนินงานเป็นศูนย์โลจิสติกส์ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนท่าเรือ แต่ไม่มีการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงเรือ เป็นการรองรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในระบบคอนเทนเนอร์ และมีการเชื่อมต่อการขนส่งได้หลายรูปแบบ โดยมีการขนส่งทางรางเป็นหลัก และจากการศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดตั้งท่าเรือบกเพื่อสนับสนุนการให้บริการท่าเรือแหลมฉบัง พบว่าจังหวัดที่เหมาะสมคือ ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น นครราชสีมา และนครสวรรค์ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างท่าเรือทางบกที่ จ.ฉะเชิงเทราได้ในปี 2567 จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมาได้ในปี 2568 และ จ.นครสวรรค์ได้ในปี 2570 และคาดการณ์ปริมาณการขนส่งผ่านท่าเรือบกในปี 2565 จาก 2.8ล้านTEU เพิ่มขึ้นเป็น 4.8ล้านTEUในปี 2600
สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันนั้น ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจังหวัดระนองให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ซึ่งตามโยบายได้กำหนดให้เป็นประตูการค้าฝั่งอันดามันของประเทศไทยโดยสามารถขนส่งสินค้าเชื่อมโยงเส้นทางการเดินเรือระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือในกลุ่มประเทศในแถบเอเชียใต้ โดยการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือน้ำลึกระนองดังกล่าวจะสามารถลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า เพราะไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดที่จะพัฒนาท่าเรือจังหวัดชุมพรเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาให้เป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Land bridge) โดยโครงการ Land bridge นี้จะเป็นการขยายขีดความสามารถการพัฒนาทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ของประเทศด้วยที่ตั้งที่เป็นยุทธศาสตร์การค้าโลก สามารถเชื่อมประเทศไทย อาเซียน จีน อินเดีย ตลอดจนเชื่อมโยงประเทศกลุ่มประเทศตะวันออกไกล เข้ากับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และสภาพยุโรปให้สะดวกยิ่งขึ้น
รูปแบบการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจนี้จะประกอบไปด้วยท่าเรือพาณิชย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบริเวณปลายทั้งสองด้านของฝั่งทะเล จ.ระนองและ จ.ชุมพรโดยมีการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองแห่งด้วย ทางรถไฟและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) คู่ขนานบนเส้นทางเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินกับภาคประชาชน สำหรับรูปแบบการดำเนินโครงการ รัฐบาลจะลดการใช้งบประมาณและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาโครงการด้วย และจะมีการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้รับความเห็นชอบจากท่านนายกรัฐมนตรีให้ใช้งบประมาณปี 2563 (งบกลางฯ) เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model)
สำหรับโครงการสะพานไทยนั้น เป็นโครงการก่อสร้างสะพานข้ามอ่าวไทยโดยเบื้องต้นกำหนดทางเลือกไว้ 2เส้นทางดังนี้ 1) แหลมฉบัง-เพชรบุรี ระยะทาง 86กม. และ 2) พัทยา-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 110กม. โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ร่วมกันดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นของโครงการ (Pre-feasibility Study)
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางเครือข่ายโลจิสติกส์ของภูมิภาคทั้งการขนส่งสินค้า และการสัญจร โดยได้กำชับว่าในการศึกษาโครงการต่างๆนั้น ต้องสร้างความเชื่อมโยง ให้เห็นความคุ้มค่าในการลงทุน และเกิดผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ และใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP เพื่อประหยัดงบประมาณเพื่อสามารถนำเงินงบประมาณไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่ และการดำเนินการทุกอย่างต้องโปร่งใส ไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน โดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนั้นทุกหน่วยงานต้องเร่งทำงาน ใช้ช่วงโควิด-19 เตรียมพร้อมประเทศ เสริมความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่จะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านไปแล้ว