นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติโครงการและแผนงานใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ดังนี้
1. โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบแทนให้ อสม. และ อสส. รวมจำนวนไม่เกิน 1,050,306 คนต่อเดือน ตั้งแต่ ตุลาคม – ธันวาคม 63 กรอบวงเงินไม่เกิน 1,575.4590 ล้านบาท เนื่องจาก อสม. ถือเป็นกลไกสำคัญในพื้นที่ในการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะความเสี่ยงในการรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนค่าเสี่ยงภัยเพิ่ม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานเชิงรุกให้มีประสิทธิภาพ
2. โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กรอบวงเงินไม่เกิน 19,462.0017 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ช่วยเหลือการจ้างงานให้ผู้จบการศึกษาใหม่ได้มีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มทักษะและประสบการณ์ในการทำงาน รวมทั้งยังเป็นการช่วยเหลือสถานประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนและผู้จบการศึกษาใหม่ 260,000 คน ซึ่งแผนการใช้จ่าย รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานจะจ่ายเงินอุดหนุนเงินเดือนร้อยละ 50 ให้กับผู้จบการศึกษาใหม่ตามอัตราเงินเดือนแยกตามวุฒิไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน/คน ในระยะเวลา 12 เดือนตั้งแต่ 1 ต.ค. 63 – 30 ก.ย. 64 โดยมีเงื่อนไขว่านายจ้างต้องอยู่ในระบบประกันสังคมและไม่เลิกจ้างลูกจ้างเดิมเกินร้อยละ 15 ภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับทั้งผู้จบการศึกษาใหม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน ลดปัญหาการว่างงาน นายจ้างหรือสถานประกอบการยังสามารถดำเนินธุรกิจ รัฐบาลก็จะได้รายได้กลับมาจากการเก็บภาษีด้วย
3.โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ (1) ให้ความช่วยเกษตรกรทดแทนผู้เสียชีวิตที่มีสิทธิโครงการ ฯ ที่ได้ดำเนินการตามขึ้นทะเบียนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของโครงการ และหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนของหน่วยงานรับผิดชอบ จำนวน 5,278 ราย โดย กษ. ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้ ภายในวันที่ 30 ก.ย. 63 ทั้งนี้ กษ. ต้องยืนยันว่าผู้มีสิทธิ์โครงการฯ ได้เสียชีวิตจริงและมีหลักฐานการเสียชีวิตตามที่ มท. กำหนด สำหรับกรณีที่เกษตรกรผู้มีสิทธิภายใต้โครงการฯ เสียชีวิตจริงก่อนระยะเวลาโครงการฯ กษ. ต้องยืนยันว่าได้มีการตรวจสอบแล้วว่าเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนทดแทนเป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่โครงการกำหนด จึงจะสามารถจ่ายเงินเยียวยาตามสิทธิของเกษตรกรผู้เสียชีวิตให้กับเกษตรกรผู้รับช่วงได้ (2) สำหรับการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้รับช่วงฯ แทนเกษตรกรผู้เสียชีวิตที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของโครงการฯ และหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนของหน่วยงานรับผิดชอบ จำนวนประมาณ 13,283 ราย เห็นควรให้ กษ. พิจารณาความจำเป็นและเหมาะสมของการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้รับช่วงฯ ดังกล่าว