นายดอน นาคนทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนก.ค. ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทย ก.ค. ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ตามรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวสูง และจากการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางและรัฐวิสากิจหกิจ และการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ
“เราจะปรับประมาณการตัวเลขจีดีพีใหม่ ก.ย.นี้ ซึ่งเศรษฐกิจไตรมาส 2 และก.ค.ที่ดีกว่าที่เราคาดไว้ก็ต้องนำมาประเมิน รวมถึงโอกาสที่จะมีการระบาดรอบ 2 ด้วย ซึ่งหากในมุมที่มีการระบาดรอบ 2 ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะติดลบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับปัจจุบัน ธปท.คาดว่าจีดีพีจะติดลบ 8.1% ปีนี้”นายดอน กล่าว
ด้านการบริโภคภาคเอกชนเดือนก.ค.63 ติดลบ 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และติดลบน้อยลงจากเดือนก่อนที่ติดลบ 4.5% เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและปัจจัยชั่วคราวที่ในเดือนนี้มีวันหยุดยาวมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
ประกอบกับสถานการณ์การจ้างงานปรับดีขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ภาวะการจ้างงานในภาพรวมยังอ่อนแอ ด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น ทำให้ประชาชนออกมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายมากขึ้นด้วย สำหรับการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวสูงถึง 12.8% ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ปัจจัยหนึ่งจากกำลังการผลิตส่วนเกินที่เหลืออยู่มาก เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว และเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ขณะที่การส่งออกติดลบ 11.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ การส่งออกติดลบ 14.3% โดยติดลบน้อยลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ตามการส่งออกที่ปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า เช่น หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศ
ด้านการนำเข้า ติดลบ 25.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหดตัวสูงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าในทุกหมวดสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐายการนำเข้าน้ำมันดิบและสินค้าทุนที่ต่ำในปีก่อนหมดลง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่แม้จะปรับดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ
ส่วนการท่องเที่ยวต่างประเทศ ยังหดตัวต่อเนื่อง 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.98% ซึ่งติดลบน้อยลงจากเดือนก่อนที่ติดลบ 1.57% ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับสูงขึ้นเป็นสำคัญ จากมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐบางมาตรการสิ้นสุดลง โดยเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนก.ค. อยู่ที่ 0.39%
“ก่อนหน้ากังวลว่าจะเราจะเข้าสู่เงินฝืด แต่หากพิจารณาตอนนี้คือเงินเฟ้อพื้นฐานกลับเข้ามาเป็นบวก จึงไม่น่าห่วง และหากมองข้างหน้าการฟื้นตัว และราคาน้ำมัน เราน่าจะเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบน้อยลงแม้ว่าจะยังไม่เป็นบวก จากราคาน้ำมันที่แย่เมื่อเทียบกับปีก่อน”นายดอน กล่าว
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลที่ 1,787 ล้านดอลลาร์ จากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล 247 ล้านดอลลาร์ ด้านดุลการค้าเกินดุล 4,113 ล้านดอลลาร์ จากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ ส่วนเงินบาทต่อดอลลาร์ โดยเฉลี่ย ก.ค. อ่อนค่าลงจากเดือนก่อน จากปัจจัยภายในประเทศ ก่อนปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในเดือนส.ค. ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์เป็นสำคัญ
นายดอน กล่าวว่า สิ่งที่ต้องจับตาตอนนี้คือ จะมีการระบาดโควิด-19 ในระลอก 2 หรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ในประเทศเพื่อนบ้านมีการระบาดและมีความเสี่ยงสูงขึ้นว่าจะกลับมาหรือไม่ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบัน ธปท.คาดการณ์ว่าท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 8 ล้านคน ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ที่ 6.7 ล้านคน ซึ่งหากหายไป 1.3 ล้านคน จะทำให้จีดีพีหายไปประมาณ 0.5%
“เรามองปีหน้าท่องเที่ยว 16 ล้านคน แต่ด้านการท่องเที่ยวคาด 12 ล้านคน ซึ่งสิ่งที่ต้องจับตาคือปีหน้ามีความเสี่ยงสำคัญมากกว่าปีนี้ หากนักท่องเที่ยวกลับมาไม่ได้ ซึ่งเราอาจจะเห็นต่างประเทศฟื้นแต่เราไม่ฟื้น แต่การท่องเที่ยวจะกลับมาก็ต้องทำแบบระมัดระวังด้วย”นายดอน กล่าว
นายดอน กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ทั้งรัฐและประชาชน ต้องเรียนรู้ การระบาดที่ไม่ใช่ 0 คน เพราะปัจจุบัน พบว่า หลายประเทศก็มีคนติดไวรัสโควิด-19 ประมาณ 10-20 คน แต่หากไทยปล่อยให้มีคนติดเชื้อบ้าง แต่กิจกรรมเศรษฐกิจหายไปเลยจะกระทบค่อนข้างมาก ดังนั้นไทยจะต้องเรียนรู้กับตัวเลขที่ไม่ใช่ 0 ด้วย