จากกรณี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับข้อร้องเรียนจาก สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย จะจัดทำหนังสือยกเลิกการแบนพาราควอตถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยเร็วที่สุด หลังอ้างว่าไม่พบสารเคมีดังกล่าวตกค้างในสินค้าภายในประเทศ และเกษตรกรส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยต่อการยกเลิก
ล่าสุดนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยมีเนื้อหาว่า คุณไม่หยุด ฉันก็ไม่หยุด!! ตราบใดที่ยังเห็นผู้บริโภคมีอันตรายอยู่ เราก็ไม่หยุด จะเอาสารพิษอันตรายกลับมาเพื่ออะไรคะ
พร้อมแนบลิงก์เพลง “ยุบเถอะ เลิกเถอะ” ซึ่งเป็นมิวสิคต้านสารพิษ ของแอ๊ดคาราบาว
ด้านมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BIOTHAI) ได้มีการโพสต์ผ่านเพจของมูลนิธิ ซึ่งสอดคล้องและ เป็นไปในทิศทางเดียวกับ รมช.มนัญญา ว่า
“ เมื่อวานนี้มีการเผยแพร่หนังสือภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการรับลูกให้มีการทบทวนการแบนพาราควอต ตามหนังสือของสำนักงานรัฐมนตรี กลุ่มงานประสานงานการเมือง ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2563 เรื่องขอให้นำส่งข้อมูลไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย อ้างถึงคำร้องขอให้มีการนำเอกสารข้อมูลไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อทบทวนมติการยกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส
ทั้งนี้นายเฉลิมชัยได้สั่งการในท้ายหนังสือดังกล่าว โดยเขียนเป็นลายมือว่า “มอบปลัด กษ.ดำเนินการตามที่ร้องขอ” พร้อมลายเซ็น ลงชื่อ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2563
พาราควอตเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชพิษเฉียบพลันสูงและพิษระยะยาวก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน ปัจจุบันมี 60 ประเทศยกเลิกการใช้แล้ว รวมทั้งประเทศไทย ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562
บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรายใหญ่คือบริษัทซินเจนทา โดยประเทศผู้คิดค้นได้แก่ สหราชอาณาจักร ประเทศที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ คือสวิสเซอร์แลนด์ และผู้ผลิตรายใหญ่คือ จีน ได้ยกเลิกการใช้แล้ว
กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรด้านสาธารณสุข เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาวิจัยแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 2 คณะ ได้แก่ด้านสาธารณสุข และด้านทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งมติของกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผ่านความเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ เรียกร้องให้มีการแบนสารพิษดังกล่าว
มูลค่าตลาดพาราควอตในประเทศไทยอาจสูงถึงหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี โดยขณะนี้บริษัทซินเจนทากำลังอยู่ระหว่างการฟ้องศาลปกครองเพื่อให้มีการยกเลิกมติการแบนดังกล่าว