นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แถลงผลการตรวจสอบการขาดทุนของการบินไทย โดยพบว่าการบินไทยประสบปัญหาขาดทุนเรื้อรังตั้งแต่ปี 2551 จากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและสาเหตุสำคัญทำให้การบินไทยขาดทุนไม่ต่ำกว่า 62,803 ล้านบาท จากการขาดทุนทุกเส้นทางบิน ตั้งแต่เที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก เดือนกรกฎาคม 2548 จนปลดระวางลำสุดท้ายปี 2556 โดยเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.การบินไทยไม่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามมติ ครม. 2.ปัญหาการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ผ่านนายหน้าคนกลางให้เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานการบินไทย วงเงินกว่า 245 ล้านบาท เพื่อเอื้อประโยชน์ในการจัดซื้ออะไหล่ 7 เครื่องยนต์และการซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย และ 3.มีข้อมูลการจ่ายเงินสินบนไม่ต่ำกว่า 5% หรือประมาณ 2,652 ล้านบาท ผ่านนายหน้าคนกลางให้กับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานการบินไทย แลกกับการจัดซื้อเครื่องบิน 10 ลำดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังพบการบริหารงานเอื้อประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง โดยระหว่างปี 2560-2562 การบินไทยขาดทุนรวม 25,659 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงมาก เช่น ค่าโอที ที่มีการเบิกเกินความเป็นจริง การบริหารงานผิดพลาด เช่น การเช่าเครื่องบิน B787-800 จำนวน 6 ลำ โดยแต่ละลำราคาไม่เท่ากันมีส่วนต่างถึง 589 ล้านบาท มีการจ่ายค่าชดเชยคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่าดำเนินงาน รุ่นA330-300 จำนวน 2 ลำ สูงถึง 1,458 ล้านบาท มีรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษ เดือนละ 200,000 บาท ผ่านไป 9 เดือน เพิ่มเป็น 600,000 บาท โดยอ้างแนวปฏิบัติที่เคยทำมา นอกจากนี้ ยังมีการบริหารงานผิดพลาดและส่อทุจริตหลายแผนกของการบินไทย เป็นต้น โดยระบุว่าข้อมูลมีผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยหลายสิบคนมีส่วนเกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกันพบว่าปี 2560-2562 สายการพาณิชย์ไม่มีการจัดทำงบประมาณ แต่ใช้วิธีการกำหนดเปลี่ยนแปลงงบประมาณเองโดยผ่านบอร์ดบริษัทเท่านั้น และมีการขายตั๋วโดยสารราคาต่ำมากเฉลี่ยใบละ 6,081 บาท แต่มีจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวบินเกือบ 80% และมีผู้โดยสารถึง 24.51 ล้านคน แต่กลับมีรายได้จากการขายตั๋วโดยสาร 149,000 ล้านบาท สาเหตุจากการเอื้อประโยชน์ใหักับตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสาร และผู้บริหารสายการพาณิชย์ได้แต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดให้ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไปในต่างประเทศ (AA) และกำหนดเป้าหมายรายได้จากการขายเพื่อให้ได้ค่าตอนแทนพิเศษ (Incentive) ตามที่ต้องการ เพื่อให้ AA ส่งรายได้ 10% ของค่าอินเซนทีฟเข้าบัญชีกองทุนของผู้บริหารสายงานพาณิชย์และนำเงินในกองทุนดังกล่าวไปจัดสรรและแบ่งปันกันเอง ซึ่งกองทุนดังกล่าวไม่มีระเบียบ ประกาศ หรือกฎหมายของบริษัทฯ รองรับ
ทั้งนี้ ทางคณะทำงานฯ จะรายงานผลการตรวจสอบต่อกระทรวงการคลัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และนายกรัฐมนตรี ภายในวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม เพื่อดำเนินการได้อย่างเด็ดขาด และ เป็นบทเรียนในการวางแผนการบริหารงานในอนาคตต่อไป ขณะที่ผู้ถูกพาดพิงก็มีสิทธิ์ชี้แจงได้เช่นกัน