นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลตั้งข้อสงสัยว่าทำไมพรรคเพื่อไทยไม่ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แทนการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ม.152 ว่า รออธิบายให้ฟังก็คงจบ เรื่องนี้เป็นกลยุทธ์ ซึ่งบางครั้งเวลาสั้นอาจจะอธิบายไม่ทัน วัยรุ่นเขาใจร้อนเป็นธรรมดา เข้าใจเขา ไม่มีปัญหา โดยเรื่องนี้เวลากระชั้นชิด เลยต้องรีบทำเพื่อจะให้ทันสมัยประชุมนี้ ซึ่งก็ไม่หนักใจ คุยกันเดี่ยวก็เข้าใจ ทั้งนี้ยืนยันว่าความสัมพันธ์ในพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลไม่ได้มีปัญหา ซึ่งคนทำงานด้วยกันบางครั้งจุดยืนและนโยบายของแต่ละพรรคเราเคารพกัน ไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่าบางครั้งการทำความเข้าใจหรือพูดคุยกันอาจจะน้อย
“ทุกเรื่องอยู่ที่น้ำหนัก หากน้ำหนักไม่มากจะไปอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยก็คงไม่ได้ อาจจะต้องรอบางเรื่องที่อาจจะน้ำหนักพอ ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็จะได้อธิบายให้พรรคก้าวไดลฟังว่าสำคัญที่สุดคือน้ำหนักแต่ละเรื่องแล้วเวลายังเหลือ ซึ่งใน1ปีสามารถอภิปรายทั่วไปม.152 และอภิปรายไม่ไว้ว่งใจได้อย่างละ 1 ครั้ง ดังนั้นสมัยหน้าสามารถขออภิปรายได้อีกครั้ง หากอภิปรายตอนนี้หมดแล้วเกิดวิกฤติในวันหน้า ล้มเหลวสิ้นเชิง ถึงวันนั้นเราจะพูดได้อย่างไร ซึ่งเรารู้ว่ารัฐบาลเกิดวิกฤติแน่นอนสมัยหน้า ไปไม่รอดแน่นอนสมัยหน้า เรื่องเศรษฐกิจพังยับเยิน แล้วหากมาอภิปรายไม่ไว้วางใจตั้งแต่ตอนนี้ ถึงตอนนั้นเราจะเสียดายไหม” นายสุทิน กล่าว
ทั้งนี้ นายสุทิน กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลจะยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา272 ว่า พรรคเพื่อไทยก็จะให้ความร่วมมือ โดยจะช่วยอธิบายให้กับ ส.ส.ได้เข้าใจอย่างเต็มที่ เพราะ ส.ส.จะต้องเป็นผู้ลงนาม ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุม ส.ส.จองพรรคในวันนี้
นอกจากนี้ นายสุทิน ยังกล่าวถึงไทม์ไลน์การพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้พอจะเห็นเค้าโครง เมื่อวานประธานวิปรัฐบาลก็ได้มีการเสนอกรอบเวลาคร่าวๆ ว่าน่าจะเป็นไหน ซึ่งก็ถือว่าอย่างน้อยที่สุดได้รู้ว่าเรื่องใหญ่ 3 เรื่อง คือ การอภิปรายตาม ม.152 เรื่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 64 และเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คงได้จบในสมัยการประชุมนี้แน่นอน โดยในวันพรุ่งนี้(26 ส.ค.)จะมีการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย เพื่อที่จะจัดลำดับให้มีความเหมาะสม ว่าเวลาที่เหลือจะเอาเรื่องใดมาพิจารณาก่อน ซึ่งที่ประธานวิปรัฐบาลได้เสนอกรอบเวลามานั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านก็เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ แต่ความตั้งใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องการให้พิจารณาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูว่ารัฐบาลจะยื่นญัตติของรัฐบาลทันหรือไม่
ส่วนเรื่องของโครงสร้าง ส.ส.ร.ที่รัฐบาลได้เปิดมาที่มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และจากคัวแทนกลุ่มต่างๆอีก 50 คนนั้น นายสุทิน บอกว่า เรื่องนี้หลักการยังเป็นเหมือนกัน แตกต่างกันแค่รายละเอียดนิดหน่อย ซึ่งก็ถือว่าไปได้ ส่วนรายละเอียดก็ต้องมาคุยกันในสภา และขั้นตอนที่2 ในขั้นแปรญัตติสามารถปรับแก้ได้