นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐานตรี เปิดเผยถึงการดำเนินการด้านการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีความคืบหน้าไปมากในทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เป็นผู้กำกับและติดตามการดำเนินงานของส่วนราชการทุกหน่วยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบโครงการ/แผนงานใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เพื่อเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ประชาชนในพื้นที่อยู่ดีมีสุข สาระสำคัญมีดังนี้
1.โครงการพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย-มาเลเซีย (9ด่าน) เพื่อยกระดับการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย และความร่วมมือในมิติต่างๆ รวมถึงเชื่อมโยงไทยไปยังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ กรอบวงเงิน 817.89 ล้านบาท ให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นไป
2.แผนการใช้ประโยชน์ที่ดินและการดำเนินการป่าชุมชนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ฯ เพื่อการพึ่งพาตนเองสู่ความยั่งยืนพ.ศ. 2564-2570 ประชาชนจะได้รับการส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินและดำเนินการป่าชุมชน ตามแนวพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง นำไปสู่การสร้างรายได้ครัวเรือนจากไม้เศรษฐกิจ ไม้มีค่า พืชพลังงาน และพืชเศรษฐกิจใหม่ คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 250,000 ครัวเรือน (ร้อยละ70 ของครัวเรือนในพื้นที่) ที่ดินสาธารณะประโยชน์ของรัฐอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง และพื้นที่ป่าชุมชน 17 แห่ง ได้รับการพัฒนา
3.แผนการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน เป็นการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงาน ให้ความรู้ และส่งเสริมปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรในพื้นที่ ให้มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อผลิตและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรพืชพลังงาน นำไปสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ ที่ผ่านมาได้นำร่องการส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานการปลูกไผ่เศรษฐกิจ เฉพาะจังหวัดยะลามีจำนวนกว่า 5,800 ไร่ ระยะยาว ตั้งเป้าเกษตรกรมีความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชผลักงาน 1 แสนราย ในปี 2568 และคาดว่าจะนำไปสู่จำนวนพื้นที่ปลูกพืขพลังงาน 3-4แสนไร่
นางสาวรัชดา รองโฆษกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ยึดถือยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งการดำเนินการต่างๆต้องผ่านการทำงานร่วมกันะระหว่างรัฐ-ประชาชน-ชุมชน อีกทั้ง คำนึงถึงความพร้อมของทรัพยากรและการยอมรับของประชาชน รัฐบาลเชื่อมั่นว่า การยกระดับคุณภาพชีวิตและการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจและปราถนาดีต่อกัน คือแนวทางที่จะสร้างสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีอีกหนึ่งข่าวดีที่ขอเรียนให้ประชาชนทราบคือ สนามบินเบตง จ.ยะลา คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นทีอย่างมาก สามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นจากปีละ 6 แสนคน เป็น 1 ล้านคนต่อปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี