“สุพัฒนพงษ์” เผย ศบศ.เศรษฐกิจนัดแรกถกแก้ปัญหาแรงงาน หลังนายกฯห่วงจ้างงานในปัจจุบันและอนาคต พร้อมปรับปรุงมาตรการเราเที่ยวด้วยกันให้เอื้อต่อการท่องเที่ยวประชาชนมากขึ้น เผยพรุ่งนี้เตรียมตรวจเยี่ยมกระทรวงพลังงานดันการลงทุนช่วยเศรษฐกิจประเทศ

Highlight, การเมือง, สังคม
19 สิงหาคม 2020

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าในการประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) หรือ “ศบศ.” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรงงกลาโหมเป็นประธานหน่วยงานด้านเศรษฐกิจจะได้มีการหารือเกี่ยวกับมาตรการทางเศรษฐกิจหลายมาตรการ

โดยในวันนี้ส่วนที่จะมีมาตรการออกมาคือเรื่องของการจ้างแรงงาน รวมทั้งจะมีหลายมาตรการที่จะให้กรอบไว้ก็จะให้กรอบไว้และไปจัดทำรายละเอียดให้รอบครอบเพิ่มเติมจากในวันอังคารที่ผ่านมาในการประชุม ครม.ได้มีการปรับปรุงมาตรการที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอี และประชาชนที่เดือดร้อน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

ส่วนมาตรการท่องเที่ยวในส่วนของโครงการเราเที่ยวด้วยกันก็จะมีการปรับปรุงให้มีการดึงดูดและเชิญชวนให้คนไทยไปท่องเที่ยวมากขึ้น ร่วมใจในการเข้าโครงการ โดยต้องเอา Pain Point มาปรับปรุง โดยปัจจุบันการท่องเที่ยวมีมากขึ้นแล้วแต่การท่องเที่ยวยังจำกัดอยู่แค่ในส่วนของการท่องเที่ยวในระยะที่ขับรถไปถึงในส่วนนี้คงต้องหาทางให้คนไปท่องเที่ยวได้ในระยะทางที่ไกลขึ้น

เมื่อถามว่าตัวเลขการว่างงานที่สศช.คาดการณ์ว่ายังมีกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงจะว่างงานอีกประมาณ 1.7 ล้านราย นั้นรัฐบาลหนักใจหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเชื่อว่ามาตรการที่มีการเตรียมเอาไว้จะเพียงพอที่จะรับมือได้ เนื่องจากเตรียมตำแหน่งรองรับไว้นับแสนตำแหน่งและจะทยอยมีตำแหน่งงานเพิ่มจากโครงการเงินกู้ 4 แสนล้านเพื่อที่ทยอยอนุมัติลงสู่ระบบ อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องของการจ้างงานแรงงานจบใหม่ ซึ่งต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะแรงงานกลุ่มนี้เป็นความหวังของครอบครัว ทุกครอบครัวก็อยากที่จะเห็นลูกหลานที่จบมามีงานทำ โดยการที่จะสร้างงานในส่วนนี้จะเป็นมาตรการที่จะออกมาโดยเร็ว โดยเป็นการร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานกล่าวว่าศบค.จะเข้ามาเป็นกลไกในการทำงานแทน ครม.เศรษฐกิจ และคงไม่ได้ดูในเรื่องการทำงานเชิงรับและแก้ปัญหาอย่างเดียวแต่ต้องดูในส่วนของแผนระยะยาวทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย โดยสิ่งที่ท่านนายกฯอยากเห็นมากที่สุดคือหลังจากพ้นวิกฤติวิด-19ไปแล้วเรายังเข้มแข็ง และเราเติบโตต่อไปได้ ภายใต้อุตสาหกรรมใหม่ๆที่จะเป็นโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการอีกชุดขึ้นมาทำงานในเรื่องนี้โดยจะต้องไปดูว่าอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ของประเทศใหม่เนื่องจากเรื่องนี้เราจะเอาตัวเองเป็นตัวตั้งไม่ได้ แต่ต้องไปสำรวจความเห็นของนักลงทุนต่างชาติว่าเขามองประเทศไทยเป็นอย่างไร ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาเรามีความเข้มแข็งในเรื่องใดบ้าง ขณะที่โลกต้องการอะไรจากความเข้มแข็งของเรา เรื่องนี้เรื่องที่สำคัญคือมุมมองจากข้างนอกเข้ามาข้างในต้องใช้เวลาในการศึกษาและฟังเสียงสะท้อน

“ผมถึงบอกว่าสำคัญมากในช่วงที่มีวิกฤติในขณะนี้เราต้องรวมใจกันถึงจะเจอกับโอกาส ที่ท่านนายกฯบอกว่าเป็นรวมใจไทยสร้างชาติ เป็นโอกาสที่เราจะเดินไปด้วยกันผ่านวิกฤติไปได้โดยเกิดความเสียหายน้อยที่สุด เสถียรภาพทางการเงินเรายังดี เรายังรักษาไว้ให้ได้แล้วให้เขากลับมาว่าประเทศเรายังน่าสนใจ ต้องให้นักลงทุนมองภาพประเทศไทยแบบนี้เขาก็จะมั่นใจ”

ทั้งนี้ตนได้มีการหารือกับเอกชนในเรื่องนี้ตอนนี้สิ่งที่เห็นชัดว่าเรามีความเข้มแข็งก็คือเรื่องของสาธารณสุข การแพทย์ ซึ่งต่างชาติก็ให้การยอมรับหากจะมีการหามาตรฐานที่จะคิดเรื่องการทดลองเอาคนต่างชาติเข้ามาในประเทศเข้ามา ทุกคนก็อยากฟังจากประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งที่เชื่อมั่นประเทศไทย ศบศ.ก็จะให้ทีมงานที่ไปดูว่ามาตรการเหล่านี้ในระยะสั้นจะทำอย่างไรแล้วเสนอให้ ศบค.พิจารณาก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ต่อไป

โดยในวันนี้ที่ (20 ส.ค.) โดยจะเอาแนวคิดเรื่องรวมไทยสร้างชาติไปชี้แจงที่กระทรวงพลังงานจะทำให้คนพลังงาน กระทรวงพลังงาน บริษัทพลังงาน รัฐวิสาหกิจ มีความเชื่อมั่นในตัวเองว่าแม้ว่าเขาได้รับผลกระทบแต่เขายังมีพลังที่เหลืออยู่ ที่จะช่วยคนอื่นได้ แล้วจะตั้งโจทย์ให้เขากลับไปคิดแล้วมาเสนอ หรือเข้ามาร่วมในมาตรการที่รัฐจะออกมา ซึ่งบางเรื่องทำได้เลยซึ่งจะให้เขาทั้งเร่งลงทุนและทำโครงการต่างๆ เช่น ช่วยในเรื่องการจ้างงาน

บทความที่เกี่ยวข้อง