นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงการคลัง ว่า พร้อมออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยมาตรการชุดนี้จะไม่ใช่การแจกเงินเหมือนที่ผ่านมา หรืออาจจะปรับลดวงเงินลง แต่ส่วนหนึ่งจะเป็นการดูแลช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน พร้อมย้ำจะดูแลทุกภาคส่วน โดยยินดีรับข้อเสนอของภาคเอกชน ส่วนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการปรับหลักเกณฑ์หรือไม่นั้น ต้องขอดูรายละเอียดก่อน
สำหรับแนวทางการดูแลด้านเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรีได้ย้ำชัด เพื่อดูแลประชาชน 5 ข้อ ได้แก่ 1.เยียวยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเอสเอ็มอีและประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต้องตกงานในช่วงที่ผ่านมา 2.ทำงานบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 3.สร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจต่าง ๆ ให้ยังคงการจ้างงานต่อไป และให้ธุรกิจต่าง ๆ พลิกองค์กรของตัวเองให้กลายเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น 4.ต้องการให้คนรุ่นใหม่ หรือนักศึกษาจบใหม่จำนวนมากกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานต้องมีงานทำ 5.รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกคนในสังคม รวมถึงการทำงานต่าง ๆ เหล่านี้ จะต้องทำด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส
นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คาดเศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ -7.5 คาดปี 2564 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยระยะสั้น คือ เศรษฐกิจหดตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง การส่งออกหดตัว อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 745,000 คน หรือร้อยละ 2 ของกำลังแรงงาน โดยมีแรงงานมากกว่า 2 ล้านคนที่ไม่ได้รับเงินเดือน แต่มีงานรอกลับไปทำ ขณะที่เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีจำกัด
สำหรับนโยบายเร่งด่วน คือ การดูแลค่าครองชีพและการจ้างงานโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ประคับประคองผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีด้วยการเสริมสภาพคล่อง กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวและการบริโภค โดยนโยบายเศรษฐกิจระยะต่อไปจะวางรากฐานเศรษฐกิจใหม่หลังสถานการณ์โควิด -19 โดยการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว เร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และพัฒนากลไกการรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินและการกำกับดูแล SFIs
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า วันที่ 19 สิงหาคมนี้ช่วงเช้าจะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ) ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นครั้งแรก คาดว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยเฉพาะการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายเล็ก (ไมโครเอสเอ็มอี)