นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. เตรียมเสนอปรับเงื่อนไขมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ให้ นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ.คลัง คนใหม่เห็นชอบ เพื่อให้มาตรการมีผลช่วยผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงทำให้มาตรการมีประสิทธิภาพกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย ซึ่งปัญหาของมาตรการเราเที่ยวด้วยกันขณะนี้ คือ จำนวนที่พักโรงแรมที่มีอยู่ 5-6 หมื่นแห่ง แต่มาเข้าร่วมโครงการเพียง 5-6 พันแห่งเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาที่พักเข้าโครงการในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือ เทศกาลหยุดยาว ที่พักเต็ม ทำให้ประชาชนที่มาจองสิทธิเที่ยวด้วยกันไว้ ไม่สามารถจองที่พักในโครงการได้
ดังนั้น คลังจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง คนใหม่ผ่อนผันให้ผู้ประกอบการที่พัก โรงแรม ที่จดทะเบียนการค้าอยู่ในระบบภาษี แต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ให้เข้าร่วมโครงการมาตรการเราเที่ยวดัวยกันได้ ซึ่งจะแก้ปัญหาห้องพักเต็มคนที่ได้จองสิทธิไว้สามารถจองที่พักได้ โดยโครงการนี้ยังมีเวลาจนถึงสิ้นเดือน ต.ค. นี้
“ต้องยอมรับว่า การให้ที่พักที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องเลือกว่า ตอนนี้จะเลือกทำถูกกฎหมาย หรือ ว่าจะเลือกกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่ง สศค. เลือกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องยอมหลับตาข้างหนึ่งไหม ให้ผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบการค้า แต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบโรงแรมเข้ารวมโครงการเราเที่ยวด้วยกันได้ แต่หากไม่มีใบประกอบธุรกิจการค้า ไม่อยู่ในระบบภาษี คงไม่สามารถให้ร่วมโครงการได้ โดยจะเสนอให้ รมว.คลัง ใหม่ทันทีที่เข้ามาทำงาน” นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวว่า สำหรับโรงแรมที่พักที่เข้าโครงการอยู่ ก็ต้องการให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ที่ผ่านมา สศค. ได้เพิกถอน โรงแรม 1 แห่ง ออกจากโครงการ เพราะต้องการเตือนไม่ให้ผู้ประกอบการรายอื่นเอาเป็นแบบอย่าง และต้องการบอกว่าระบบของธนาคารกรุงไทย สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ว่า มีการจองห้องพักที่ผิดปกติ นำไปสู่การทำผิดเงื่อนไขหรือไม่ โดยระบบจะเตือนขึ้นมาทันที และทางคลังจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบในพื้นที่ทันที
สำหรับ กรณีที่มีปัญหา พบว่า มีห้องพัก 50 ห้อง มีการจองเต็มทุกคืน และแต่ละคนจอง 5 คืน เกือบทั้งหมด ซึ่งทั้งสัปดาห์ก็ควรมียอดจองได้สูงสุด 350 คืน แต่ปรากฎว่ามีการยอดของทั้งสัปดาห์ 500-600 คืน ซึ่งระบบได้แจ้งเตือนทันที
นอกจากนี้ ยังตรวจพบว่า โรงแรมดังกล่าวไม่มีร้านอาหาร แต่มีการใช้วงเงิน 600 บาท ในกระเป๋าตังค์ โดยผู้เข้าพักทานอาหาร 1,500 บาท จ่ายเงินจริง 900 บาท ที่เหลืออีก 600 บาท ตัดจากวงเงินที่รัฐจ่ายให้คืนละ 600 บาท ซึ่งคลังได้ระงับการจ่ายเงินค่าที่พักและค่าอาหารในทันที ทำให้ยังไม่เกิดความเสียหาย
“อยากให้โรงแรมที่พัก ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่อยากให้มีการทำผิด เพราะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะระบบสามารถตรวจจับความผิดปกติและจะแจ้งเตือนขึ้นมาทันที” นายลวรณ กล่าว