ครม.เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้ COVID-19 วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 48,000 ล้านบาท จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อนำไปใช้ในโครงการแผนงานตาม พ.ร.ก.เงินกู้ ลงนามในสัญญาเงินกู้เดือน ส.ค.63

Highlight, การเมือง, สังคม
4 สิงหาคม 2020

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้ในนามของรัฐบาลไทยจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 48,000 ล้านบาท คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน 32 บาท/ดอลลาร์ เพื่อนำไปใช้ในโครงการแผนงานตาม พ.ร.ก.เงินกู้ โดยมีกำหนดลงนามในสัญญาเงินกู้ในเดือน ส.ค.63

“หนี้รัฐบาล ในส่วนของสกุลเงินต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ กระทรวงการคลังสามารถบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ และเห็นว่าจากนี้ไปสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจจะเป็นแหล่งเงินสำคัญให้แก่ภาคธุรกิจเอกชนไทย ในขณะที่ยังมีพื้นที่ มีเพดานในการกู้เงินสกุลต่างประเทศอยู่ จึงอยากให้โอกาสนี้กู้เงิน และเป็นแหล่งเงินกู้ที่ไม่ได้คิดดอกเบี้ยสูงแต่อย่างใด” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

กระทรวงการคลัง มองว่าในระยะต่อไปตลาดการเงินในประเทศจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้น ภาคเอกชนมีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด-19 และรัฐบาลยังจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สาระสำคัญของสัญญาเงินกู้ฉบับนี้ ผู้กู้คือกระทรวงการคลัง ขอกู้เงินจาก ADB วงเงินกู้ 1,500 ล้านดอลลาร์ อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย LIBOR 6 เดือน ด้วยส่วนต่าง 0.5% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยของวงเงินกู้คงค้างทุก 6 เดือน คือ 15 ก.พ. และ 15 ส.ค. กำหนดระยะเวลาเบิกจ่ายเงินกู้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย.64

ทั้งนี้ การชำระคืนเงินต้นจะแบ่งเป็น 2 วงเงิน 1. วงเงิน 500 ล้านดอลลาร์ อายุเงินกู้ 10 ปี ระยะเวลาปลอดการชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ทยอยชำระคืน 14 งวดๆ ละ 35.7 ล้านดอลลาร์ เริ่มชำระงวดแรก 15 ส.ค.66 และงวดสุดท้าย 15 ก.พ.73 2. วงเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ อายุเงินกู้ 5 ปี ระยะเวลาปลอดการชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ทยอยชำระคืน 4 งวด ๆ ละ 250 ล้านดอลลาร์ เริ่มชำระงวดแรก 15 ส.ค.66 และงวดสุดท้าย 15 ก.พ.68

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ภายหลังจากการกู้เงิน ADB แล้วจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด จะอยู่ที่ 2.46 ซึ่งไม่เกิน 10% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้กำหนดไว้

บทความที่เกี่ยวข้อง