พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่งด่วน ในการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ปฏิบัติหน้าที่ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555 ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาหลายข้อหา และผู้ต้องหาหลบหนีการดำเนินคดี คดีบางข้อหาได้ขาดอายุความในส่วนข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และฝ่ายตำรวจไม่มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้อง จึงมีผลเด็ดขาดตามประมวลกฎหมาย และขอสรุปพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นในการสั่งคดีหรืออาจขอดำเนินคดีใหม่ เมื่อได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีหรือขอความเป็นธรรม และความช่วยเหลือจากรัฐโดยที่คดีนี้อยู่ในความรับรู้และสนใจของประชาชนต่อเนื่องมาโดยตลอดนับ เมื่อผลคดีอันเป็นขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นก่อนมีคำพิพากษาของศาลเช่นนี้ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อและสังคมทั่วไปอย่างกว้างขวาง และกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นในองค์กร เจ้าหน้าที่ และกระบวนการยุติธรรม แม้ในส่วนของการใช้ดุลยพินิจและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการย่อมมีอิสระในการสั่งคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร และแม้พนักงานสอบสวนจะอยู่ในการตรวจสอบตามกฎหมายและระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตาม
แต่กรณีนี้มีเหตุพิเศษที่สังคมควรมีโอกาสทราบในส่วนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พฤติการณ์ และบุคคลผู้เกี่ยวข้อง เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ต้องมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ จะได้นำมาปฏิรูปโดยเร่งด่วนต่อไป
นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ประกอบด้วย
– นายวิชา มหาคุณ ประธานกรรมการ
– ปลัดกระทรวงยุติธรรม
– เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
– ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมาย
– ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรมกรรมการ
– นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย
– คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
– ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป.
2. คดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนตามคำสั่งนี้ หมายถึงคดีตามข้อเท็จจริงที่กล่าวถึงข้างต้น
3. คณะกรรมการ มีอำนาจ หน้าที่ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่คำสั่งนี้มีผลใช้หากยังไม่แล้วเสร็จ จะขยายระยะเวลารายงานต่อนายกรัฐมนตรี ทุก 10 วัน
ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ คณะกรรมการมีอำนาจเชิญ รวมทั้งขอเอกสารต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบได้ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมมือกับคณะกรรมการ รับฟังความเห็น และเรื่องร้องเรียนจากประชาชนได้